จับทิศท่องเที่ยวไทย 2 ล้านล้านบาท

เปิดมุมมองการสร้างโอกาสใหม่ขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยในเวทีสัมมนา "จับทิศท่องเที่ยวไทย 2 ล้านล้านบาท ฯ"จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบายสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางกมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทดิเอราวัณ จำกัด (มหาชน) นายชิดชัย สาครบดี อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด และนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)

++โจทย์ 2 ล้านล้านบาทเป็นไปได้หรือไม่

กมลวรรณ : จากโอกาสที่มีอยู่คาดว่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะเอเชีย ที่ปัจจุบันมีจำนวนประชากรครึ่งหนึ่งของโลก มีการขยายตัวของการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้กว่า 400 ล้านคนและประเทศไทยก็มีพื้นฐานของความแข็งแกร่งด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีโอกาสสูงสำหรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากจีน อินเดีย และรัสเซีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน จำนวนการเดินทาง 2 พันล้านทริปในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า จากปัจจุบันที่อยู่ราว 47ล้านคน ก็ถือว่าเป็นโอกาสของไทย และปัจจุบันทัวร์จีนก็ไม่ใช่ทัวร์ราคาถูกเหมือนในอดีตอีกต่อไป
"จากเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตสูงขึ้นมาก ทำให้เขามีกำลังซื้อมากขึ้น ต้องการเซอร์วิสที่ดี พักโรงแรม 4 ดาว ชอบสปาและช็อปปิ้ง และต้องการประสบการณ์ในการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงมีกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบเดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง(เอฟไอที)เที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ธุรกิจจึงต้องทำความเข้าใจกับตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในตลาดเหล่านี้ และต้องยอมรับว่าจีนและนักท่องเที่ยวจากเอเชียมีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวยุโรป"

นอกจากนี้เทคโนโลยีปัจจุบันยังทำให้โลกเล็กลงอย่างมาก การใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่อย่างอินเตอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อโปรโมตธุรกิจก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องเข้าไปเจาะเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำก็ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยการเติบโตในเอเชียมีการขยายตัวของจำนวนที่นั่งกว่า 7% จากโอกาสเหล่านี้สรุปได้ว่าเป้าหมายนี้ของรัฐบาลก็มีโอกาสอยู่มาก แต่ขณะเดียวกันความท้าทายก็มีสูง เพราะเราต้องแข่งขันกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้

กงกฤช: เชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะจากการคาดการณ์ฐานนักท่องเที่ยวในปี2554 ที่จะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 19 ล้านคน อัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 7% ดังนั้นในอีก 4 ปีข้างหน้าการขยายตัวของนักท่องเที่ยวก็น่าจะอยู่ที่ 25 ล้านคน สร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาท แต่หากนำอัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวอาเซียนมาจับด้วย การท่องเที่ยวไทยก็น่าจะขยายตัวได้ 10% ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยก็น่าจะขยับไปเป็น 28 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท

ขณะที่การเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่91 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้ราว 4 แสนล้านบาท อัตราการโต5-6% ต่อปี ทำให้ในอีก 4 ปีก็น่าจะขยับมาใกล้120 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้ 5.5 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมกันรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยในอีก 4 ปีข้างหน้าก็จะอยู่ที่1.6 ล้านล้านบาทขาดอีกกว่า 4 แสนล้านบาทกว่าจะถึงเป้าหมาย ซึ่งหากกระตุ้นเต็มที่ก็น่าจะทำได้ แต่หากรวมมิติด้านรายได้จากการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เกินกว่า 2 ล้านล้านบาทไปแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลขยายมิติมาดูแลการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย

ชิดชัย : โจทย์นี้เป็นไปได้แต่ค่อนข้างยาก เพราะการท่องเที่ยวเราทำงานกันแบบไม่บูรณาการ เอกชนทำแต่ฝ่ายเดียวก็คงไม่ไหว และที่สำคัญเราไม่มีผู้นำทัพที่มีพาวเวอร์ในระดับประเทศมาผลักดันให้การท่องเที่ยวก้าวกระโดดได้ เพราะเจ้าภาพใหญ่ที่มานั่งต้องสามารถประสานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ เพราะทุกวันนี้การทำงานก็มีการขัดขากัน ตั้งแต่การตรวจคนเข้าเมือง(ต.ม.) คิดดูถ้านักท่องเที่ยวเข้ามา 30 ล้านคน ต.ม.จะปรับตัวให้บริการทันไหม สนามบินรองรับได้ไหม และการทำงานของกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็ขาดศักยภาพ ทุกอย่างล้วนติดขัดกลไกการร่วมมือของภาครัฐ จากการไม่มีเจ้าภาพใหญ่ที่มีอำนาจในการบังคับหรือขอร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมทำงานในลักษณะบูรณาการได้

โชคชัย:หากพูดถึงดีมานด์ของนักท่องเที่ยวการบินไทยมั่นใจว่าตลาดมีแน่นอน แต่ถ้าทำเหมือนในอดีตที่ผ่านมาคงไม่ได้ ต้องทำใหม่ เพราะต้องยอมรับว่าการเติบโตของการท่องเที่ยวที่ผ่านมาเอกชนก็เป็นภาคส่วนสำคัญหลักในการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวจนโตมาในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ก้าวกระโดดตามเป้าหมายต้องมีเป้าหมายการบริหารจัดการที่ชัดเจน มีรูปธรรม แต่ที่ผ่านมาเอกชนก็ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจากรัฐ อย่างการลงทุนกว่า 4 แสนล้านบาทในการเปลี่ยนฝูงบิน 75 ลำของการบินไทยก็เป็นการวางแผนจากสิ่งที่เอกชนมีข้อมูลจากการดำเนินธุรกิจ

ดร.นิตินัย: คิดว่าความเป็นไปได้พอมี แต่ถ้าปล่อยให้การท่องเที่ยวเติบโตแบบนี้ตามยถากรรมไม่คิดใหม่ทำใหม่โจทย์นี้ก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งการสร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท ต้องเพิ่มทั้งปริมาณของนักท่องเที่ยวและเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งหลังเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐฯ จากที่เคยคิดเป็น 60%ของจีดีพีโลก แต่วันนี้ลดลงอย่างมาก และเกิดการเปลี่ยนขั้วเศรษฐกิจมาอยู่ที่เอเชีย และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป การจัดกิจกรรมและการนำเสนอจุดขายด้านการท่องเที่ยวจึงต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงจะเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้

++การผลักดันไปสู่เป้าหมายต้องทำอย่างไร

กมลวรรณ: ต้องสร้างความชัดเจนให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวไทย ซึ่งภารกิจนี้คงไม่ใช่เรื่องแค่กระทรวงการท่องเที่ยวฯแต่ต้องรวมถึงกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ขณะที่จุดเด่นของแวลู ฟอร์มันนี่ ของการท่องเที่ยวไทย ก็ไม่ใช่ทุกอย่างต้องถูกเกินไป ธุรกิจควรสร้างความแข็งแกร่งเพื่อแข่งขันได้ ไม่ใช่แข่งกันตัดราคา ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้ และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนเอกชนเหมือนในต่างประเทศ ทั้งการลงทุน การทำโรดโชว์ เทรดโชว์ อย่าให้เราเดินคนเดียว ทุกคนทำกำไรจากธุรกิจได้ แต่จะให้เราไปสู้หรือแข่งขันกับผู้เล่นที่เป็นคู่แข่งของการท่องเที่ยวไทยได้ รัฐบาลต้องสนับสนุนและเป็นผู้นำ และเราพร้อมให้การสนับสนุนมากกว่า
กงกฤช:การเติบโตของการท่องเที่ยวไทยกว่า 50 ปีผมให้เครดิตทั้งททท.และการบินไทย ที่ผ่านมาแม้ไม่บูรณาการการท่องเที่ยวก็โตด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว และสิ่งสำคัญคือเราต้องจัดบ้านเราเอง มีพิมพ์เขียวหรือมีนโยบายที่ชัดเจนว่าการท่องเที่ยวจะเดินไปทางไหน ซึ่งที่ผ่านมาสภาก็เคยประมวลปัญหาที่ต้องการผลักดันให้มีความชัดเจนในนโยบายใน 4 เรื่องได้แก่

1.การพัฒนาการท่องเที่ยวใน 8 กลุ่มคลัสเตอร์ทั่วประเทศ+กรุงเทพฯ เพื่อกระจายการท่องเที่ยว เพราะจากการมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแหล่งท่องเที่ยวเดิมก็มีปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรม
2.การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ที่ต้องมีรถโดยสารที่มีมาตรฐานและปลอดภัย
3.การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี และการแก้ปัญหาความไม่ก้าวหน้าในตำแหน่ง
4.ผลตอบแทนในการทำงานของบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวหากเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างที่ต้องมีความชัดเจนในการแก้ปัญหา

ชิดชัย:นอกจากการบูรณาการด้านการท่องเที่ยวแล้ว จากแนวโน้มการตลาดที่เปลี่ยนไปจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปและสหรัฐอเมริกาชะลอตัว ฐานตลาดเปลี่ยนมาเป็นเอเชีย ธุรกิจต้องปรับการทำงานให้ทันกันตลาดที่เปลี่ยนไป การนำเสนอโปรดักต์ก็ต้องให้สอดคล้องกันด้วย เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น และจากจำนวนนักท่องเที่ยวตามเป้าหมาย 30 ล้านคน ทุกสนามบินในเมืองท่องเที่ยวหลักก็ต้องมีมาตรการสนับสนุนและรองรับ เช่น การดันเชียงใหม่เป็นฮับของภาคเหนือ การส่งเสริมชาร์เตอร์ไฟลต์ของสนามบินดอนเมือง เป็นต้น

ดร.นิตินัย: แนวทางรองรับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ทอท.ได้เตรียมแผนไว้แล้วสำหรับรองรับการขยายตัวของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มจาก 45 ล้านคน เป็น 65 ล้านคน ในปี 2559 แต่ยอมรับว่ากว่าสนามบินจะขยายแล้วเสร็จสิ่งที่ผู้โดยสารจะต้องเผชิญคือคุณภาพในการบริการที่ลดลง จากจำนวนผู้โดยสารในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 46 ล้านคน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับของสนามบิน แต่ทอท.ก็จะปรับวิธีการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

โชคชัย : การขยายตัวของการท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดดเป็น 2 เท่านั้น ปัญหาที่ต้องเจอคือปัญหาคอขวดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เชื่อว่ากว่าขยายสนามบินเสร็จต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี และภูเก็ต ก็จะโตเร็วมาก ปัญหาเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพร้อมรับมือ ซึ่งภาคการขนส่งทางอากาศในขณะนี้ก็เริ่มมีข่าวดีถึงการตั้งคณะทำงานในการบูรณาการทำงานร่วมกันแล้วเพื่อนำแผนของแต่ละหน่วยงานมาดูกันว่าจะขยายกันอย่างไร การบินไทยมีแผนขยายธุรกิจอย่างไร หน่วยงานอื่นๆของกรมการขนส่งทางอากาศ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยฯ หรือทอท.มีแผนของแต่ละองค์กรอย่างไร เพื่อนำแผนมาทำให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ในภาพรวมเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นมุมมองจากเวทีสัมมนากับความท้าทายในการสร้างโอกาสใหม่ท่องเที่ยวไทย

ขอบคุณข้อมูลข่าวจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,673 วันที่ 25-28 กันยายน พ.ศ. 2554
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=85057:2011-09-23-09-02-22&catid=136:a-tourisn-&Itemid=448